“จิรัฏฐ์” สส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกต ผบ.ทร. เตรียมเสนอใช้เครื่องยนต์จีนในเรือดำน้ำก่อนเกษียณไม่กี่สัปดาห์ แนะ หากได้รับชดเชยไม่คุ้มเสี่ยงควรยกเลิกสัญญา เชื่อ ได้ข้อเสนอจากผู้ขายหลายประเทศที่ดีกว่า
วันที่ 22 กันยายน 2566 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงข้อเสนอการนำเครื่องยนต์เรือดำน้ำ CHD 620 ของประเทศจีน มาใส่แทนเครื่องยนต์สัญชาติเยอรมัน ซึ่งมีปัญหาไม่สามารถใส่ให้ตามสัญญาได้ ว่า สิ่งที่ ผบ.ทร. เตรียมเสนอเรื่องครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนตัวเองเกษียนราชการ คำถามคือถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเครื่องยนต์เรือดำน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความเป็นความตายของลูกเรือ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าการที่ ผบ.ทร. ยื้อปัญหานี้เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่
ขณะเดียวกัน ที่กองทัพเรือเคยระบุว่า เครื่องยนต์ CHD 620 ของจีน เป็นเครื่องยนต์ที่จีนใช้กับเรือผิวน้ำของตัวเองมานานแล้ว และส่งเจ้าหน้าที่ไปทดสอบประสิทธิภาพตั้งแต่กลางปี 2565 แต่เหตุใดเพิ่งจะได้ข้อสรุปนี้ออกมา 18 เดือนหลังไทยทราบว่าจีนมีปัญหาไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำให้ไทยได้ตามสัญญา
อีกทั้ง กองทัพเรือเคยบอกว่าเป็นปัญหาจากทางฝั่งจีน เนื่องจากเยอรมนีไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน เป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข แต่วันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังจะไปขอพบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อเจรจาขอให้ขายเครื่องยนต์ MTU 396 ให้จีน นั่นแปลว่ารัฐบาลไทยกำลังจะไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีให้กับจีน ซึ่งฟังดูผิดฝาผิดตัว และถ้าช่วยเหลือจีนถึงขนาดนี้ ไทยจะมีอำนาจในการต่อรองเรียกค่าชดเชย หรือเรียกเงิน 7,000 กว่าล้านบาท ที่จ่ายไปแล้วจากจีนได้อย่างไร
ส่วนกรณีที่ว่าจีนจะชดเชยด้วยการสนับสนุนอะไหล่ 8 ปี ก็เป็นข้อเสนอเดิมตามสัญญาอยู่แล้ว และยังเป็นข้อเสนอที่น้อยเกินไปแต่แรก ไทยซื้อเรือดำน้ำจากจีนตามข้อเสนอแรกคือใช้เครื่องยนต์เยอรมัน แต่เมื่อหาเครื่องยนต์เยอรมันให้ไม่ได้ ถ้าต้องเปลี่ยนก็ควรต้องมีการชดเชยที่ดีกว่านี้ ให้คุ้มกับความเสี่ยงที่ไทยจะต้องยอมรับ เพราะไทยจะต้องใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ก่อนจีนด้วยซ้ำ
นายจิรัฏฐ์ ระบุต่อไปว่า ประเทศไทยจ่ายเงินให้จีนไปแล้ว 7,000 กว่าล้านบาท และจีนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ตามกำหนดส่งมอบเดิม คือปลายปีนี้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยอมรับข้อเสนอนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 40 เดือนเป็นอย่างน้อย สรุปได้ว่า ผบ.ทร. จะเสนอเรื่องให้ ครม. แก้ไขสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ใหม่ โดยแก้ไขแค่ยี่ห้อเครื่องยนต์ และวันสิ้นสุดสัญญาที่เลื่อนออกไปจากเดิมอีก 40 เดือนเท่านั้น พร้อมมองว่า ไทยควรยกเลิกสัญญาและเจรจาค่าเสียหายชดเชยให้ได้มากที่สุด และกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ หากเรือดำน้ำสำคัญกับยุทธศาสตร์ของประเทศจริง
“การดำเนินการจัดหาใหม่ จะทำให้เราได้ข้อเสนอจากผู้ขายที่ดีกว่านี้มาก อ้างอิงข้อเสนอจากหลายประเทศที่เสนอเข้ามาแข่งก่อนกองทัพเรือจะยกงานนี้ให้จีน ทั้งเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเรือดำน้ำที่มีสมรรถนะและประสิทธิภาพสูงกว่าในราคาที่ดีกว่าสัญญาเดิมที่กองทัพเรือไทยพยายามปกป้องผู้ขายสุดชีวิตแบบนี้”