Submitted on Thu, 2023-09-28 20:05
ทีมข่าวการเมือง
ชวนมองปรากฏการณ์ ‘ส้มเทิร์นแดง’ ผ่านบทสนทนากับ 3 แอคติวิสต์คนรุ่นใหม่ เผยเหตุผลเลิกสมาทานการเมืองแบบก้าวไกล
- ปรากฏการณ์ “ส้มเทิร์นแดง” หมายถึง คนที่เคยสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เปลี่ยนใจมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
- ในการเลือกตั้งปี 2566 นักกิจกรรมหลายคน ผันตัวเข้าสู่ถนนการเมืองกับพรรคก้าวไกล และได้รับเลือกตั้งให้เป็น สส. ในสภา ในขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมอีกกลุ่ม ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน แม้ว่านโยบายของพรรคแดงจะไม่ได้ตะโกนตอบรับข้อเรียกร้องบนท้องถนนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
- ชวนมองปรากฏการณ์ “ส้มเทิร์นแดง” ผ่านบทสนทนากับ 3 แอคติวิสต์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนใจเลือกพรรคแดง ถึงเหตุผลและประสบการณ์ส่วนตัวที่ส่งผลกับการตัดสินใจ
จากคนใต้ที่ไม่เคยมองเพื่อไทย
“เราได้เข้าไปเห็นจริงๆ ว่าเขาทำงานยังไง ในกระบวนการคิด (นโยบาย) มันสูญเสียอะไรไปบ้าง แล้วก็เขาต้องต่อสู้กับอะไรไปบ้าง การเป็นเพื่อไทยหรือการเป็นทักษิณ หรือการเป็นคนทำงานกับคนไทยมันก็ไม่ใช่ว่าเขาจะสามารถทำทุกอย่างได้ง่ายไปหมด แล้วก็มาเจอกับข้อเท็จจริงที่ว่า เขาทำขนาดนี้เขายังโดนรัฐประหารเลย
มันก็เลยเริ่มมี empathy (ความเข้าใจ) กับพรรคเพื่อไทยแล้วว่า โอ้โห พรรคการเมืองอะไรโดนรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง โดนยุบพรรคมาอีกก่อนหน้านี้ ในขณะที่เราเติบโตมากับคนใต้ซึ่งเป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์ที่โจมตีเพื่อไทยและคุณทักษิณมาตลอด รวมถึงเป็นคนที่ทำม็อบกปปส.เรียกคนมารัฐประหารด้วย มันก็เลยตาสว่างขั้นสุด”
มายมิ้นต์ – ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแอคติวิสต์ เล่าให้ประชาไทฟังถึงเหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนใจมาเชียร์พรรคเพื่อไทย คือการได้เข้าร่วมโครงการ The Change Maker ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงเข็ดขยาดกับแนวคิด “การเมืองใหม่” ที่ไม่ตรงปก และการทำงานไม่เป็นระบบของพรรคสีส้ม
(คนกลาง) ศุกรียา ร่วมโครงการ The Change Maker
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก THINK คิด เพื่อ ไทย
แต่ราคาของการเปิดตัวเชียร์เพื่อไทยในดงชนชั้นกลางยังคงเป็นคำถามเชิงค่อนขอดจากวงสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย
“ก็คงจะเป็น Change Maker นี่แหละที่ทำให้นิสิตสาขาสามย่านถูกซื้อไปได้” คำครหาทำนองนี้เป็นเพียงแค่ส่วนเดียว
ศุกรียา เล่าย้อนถึงตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และมีภาพถือป้ายเชียร์ธนาธร ตนเป็นลูกรักของนักวิชาการทุกหมู่เหล่า พวกเขาคงคิดว่าตนเชื่อแบบเดียวกัน แต่พอวันนึงตนออกตัวเชียร์เพื่อไทย ชอบทักษิณ การเลี้ยงดูปูเสื่อที่เคยได้รับก็เปลี่ยนไป
ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่คือพรรคเดียวที่สะท้อนวิธีคิดในวัยที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก
“ตอนที่เราชอบพรรคนี้ (อนาคตใหม่) เราชอบเพราะว่าเป็น ‘การเมืองใหม่’ เพราะว่าเราเป็นคนใต้ที่ที่บ้านก็จะรายล้อมไปด้วยคนที่เลือกประชาธิปัตย์ แล้วทุกคนก็จะบอกว่าเกลียดทักษิณ ทักษิณมันโกง แต่เราก็ไม่รู้หรอก เราได้ยินเขาพูดกันมาอย่างนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าจะให้เลือกเราเลือกประชาธิปัตย์เราก็เลือกไม่ได้ จะให้เราเลือกเพื่อไทยเราก็ไม่รู้จัก แล้วเราไม่มีที่ยืน เรากำลังจะอายุ 18 ปี เราจะเลือกตั้งครั้งแรก หลังจากผ่านรัฐประหารมา ไม่มีพรรคไหนที่สนใจเลย ไม่รู้จะเลือกพรรคไหนดี อยู่ดีๆ ก็มีพรรคนี้แหละผุดขึ้นมา”
คำว่า “การเมืองใหม่” เป็นไอเดียที่จุดประกายความหวังในหมู่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับศุกรียาที่ซื้อเรื่องนี้แบบสุดใจ เพราะมองว่า การเมืองต้องเป็นเรื่องของสิทธิของประชาชน ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน อนาคตใหม่ไม่เหมือนพรรคอื่น เพราาะไม่ได้มองประชาชนเป็นหมากตัวหนึ่ง
ศุกรียา บอกว่าถ้าเทียบกับวัฒนธรรมการติ่ง เมนของตนก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในวันที่มีงานแฟนมีต ตนเป็นแฟนคลับบัตร 2,500 บาท นั่งแถวหน้า กิจกรรมในงานมีทั้งถ่ายรูป จับมือ ตอบคำถาม เหมือนกับศิลปิน
งานแฟนมีตที่จัดขึ้นเพื่อหาเงินเข้าพรรค ก่อนการเลือกตั้งปี 2562
ภาพ: Sugreeya Wannayuwat
ศุกรียาและเพื่อนในชุดนิสิต จัดม็อบในมหาวิทยาลัย
หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
ภาพ: Sugreeya Wannayuwat
การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกๆ ของนิสิตคณะครุศาสตร์คนนี้ เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยจากการชักชวนของกลุ่มแอคติวิสต์ชาวสามย่าน เช่น ฟอร์ด–ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ เฟลอร์–สิรินทร์ มุ่งเจริญ
จากตอนแรกที่ไปช่วยงานเพื่อนๆ ขายคุ้กกี้, ขายหนังสือ ตามม็อบต่างๆ ต่อมาชื่อของศุกรียาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการร่วมจัด “ม็อบตุ้งติ้ง” เพื่อส่งเสียงของผู้หญิง LGBTQ และคนชายขอบอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับเรื่องประชาธิปไตย
ในช่วงที่ม็อบค่อนข้างรุนแรง นักกิจกรรมเริ่มโดนกดปราบ ศุกรียาขณะนั้นที่โปรส้มมาก มีโอกาสร่วมวงทานข้าวกับผู้บริหารระดับสูงของพรรคส้มโดยบังเอิญ นั่นทำให้พบกับเอ๊ะแรก
“มีคนในโต๊ะถามเขาว่า “เมื่อไหร่ ธนาธร ปิยบุตร หรือว่าก้าวไกลจะออกมานำ เมื่อไหร่จะออกมานำประชาชนเรียกร้องนู่นนี่นั่น” แล้วเขาก็บอกว่า “เดี๋ยวรอลูกเข้าตีนก่อน” เราก็เลยแบบ…รอลูกเข้าตีน คืออะไร ตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรมากเท่าไหร่ แต่คนอื่นในโต๊ะเริ่มดูโกรธแล้ว”
ศุกรียาบอกด้วยว่า ในเกือบทุกการประชุมของแอคติวิสต์เฉพาะที่ตนเองได้ร่วม ก็จะมีคนของพรรคส้มเข้ามานั่งอยู่ด้วย
“เขาจะต้องรอให้พวกเราเป็นอันตรายมากกว่านี้ก่อน หรือยังไงกันแน่ เราก็ไม่เข้าใจ…สรุปว่าเราเป็นส่วนหนึ่งกันหรือไม่ สรุปว่าเราเป็นอะไรกัน เป็นคนที่สู้ด้วยกัน หรือว่าจริงๆ แล้วม็อบก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่คุณต้องรอจังหวะถึงจะออกมาทำ”
และเอ๊ะสองก็มา ในวันที่ทนายอานนท์ นำภา และแกนนำหลายคนถูกจับ เมื่อปี 2563 ศุกรียากับเพื่อนจัดแฟลชม็อบที่แยกปทุมวัน แล้วมีคนจากพรรคก้าวไกลที่ยืนอยู่ข้างเวทีมาเข้าหาตน เขาแนะนำตัวว่าเป็นดอกเตอร์แล้วก็แต่งตัวภูมิฐาน และขอให้ตนปราศรัยโจมตีพรรคเพื่อไทยและคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เรื่องจับมือกับทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
ศุกรียาบอกว่า ในวันนั้นแม้ตนไม่รู้ว่าเพื่อไทยจะทำจริงไหม แต่ก็ปราศรัยไปในทำนองว่ารู้ทันเพื่อไทย และก็ถูกแฟนคลับเพื่อไทยโจมตีหนักเหมือนกัน แต่ตอนนั้นตนคิดแต่เพียงว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไร เพื่อไทยก็มีหน้าที่ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะอยู่แล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป ปัจจุบันคนๆนั้นได้เป็น สส. ส่วนตนเมื่อพักจากงานม็อบก็ได้มีเวลาคิดทบทวน ตนก็กลับมานั่งสงสัยว่าตนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเพื่อไทยหรือไม่
“เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันด้วย เราเป็นแค่แอคติวิสต์ แล้วก็เป็นแค่คนๆหนึ่งที่ๆ อยากจะทำทุกอย่างที่ทำได้ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราพูดไปมันจะมีผลย้อนกลับมายังไงบ้าง แล้วเราก็พูดในสถานการณ์คับขัน…เราอาจจะโง่จริงๆ แหละที่เชื่อเขาแล้วขึ้นไปพูดในตอนนั้น แต่ว่ามันสมควรแล้วหรือเปล่าที่เขาจะทำแบบนั้นกับเรา”
อีกหนึ่งตัวอย่างของการเมืองใหม่ที่ไม่มีจริง คือวิธีหาเสียงที่โจมตีคนอื่น
“เราไม่มีปัญหากับการที่ส้มเป็น กปปส.เก่า แต่เรามีปัญหากับการที่คนที่เคยทำลายประชาธิปไตยมาชี้หน้าด่าว่าคนอื่นไม่มีอุดมการณ์ มาบอกว่าคนอื่นไม่สู้ ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเป็นประชาธิปไตยต้องเป็นแบบฉันเท่านั้น
ประชาธิปไตยมันมีหลากความหมาย หลายรูปแบบ หลายวิธีการ เพราะฉะนั้นคนที่เคยทำลายประชาธิปไตยมาก่อน วันหนึ่งตาสว่างแล้วคิดว่าตัวเองดีกว่าใคร สำหรับเรามันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”
เรื่องระบบการทำงานภายในพรรค อดีตอาสาสมัครพรรคส้ม เปิดเผยว่าเคยถูกทิ้งให้รันงาน Tournament อีสปอร์ตของ สส. คนหนึ่ง ด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด รวมถึงโปรเจคการศึกษาของ สส.จังหวัดหนึ่ง ที่ตนลงแรงลงใจไปมากแต่กลับถูกเทกลางทาง
ศุกรียา ยืนยันว่าเรื่องที่ตนเองเจอแม้จะดูเป็นประสบการณ์ส่วนตัว แต่ก็สะท้อนการทำงานของระบบในพรรคได้ดีมาก ถ้าพรรคยังไม่สามารถจัดการการทำงานในระดับเล็กๆ ให้ราบรื่นได้ แล้วจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศได้อย่างไร
สำหรับความคาดหวังต่อรัฐบาล ศุกรียาระบุว่า พรรคเพื่อไทยต้องทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้เป็นพรรคที่ฟังก์ชันที่สุดในเรื่องเศรษฐกิจ เส้นตายที่จะพิสูจน์ฝีมือคือการลดค่าครองชีพของประชาชนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้า ฉะนั้นตนขอให้พรรคเพื่อไทยดีลอย่างไรก็ได้ ให้ประชาชนได้ประโยชน์
ชอบพรรคการเมืองที่จริงใจ
“สิ่งที่เราไม่ชอบคือ (ผู้สมัคร) สส.ส้มโพสต์รับอาสาสมัครในหลายพื้นที่ เราก็เข้าไปช่วยเขตหนึ่งของ กทม. (ผู้สมัคร) สส.พรรคส้มคนนั้นไม่มีความเป็นผู้นำที่มากพอ พรรคไม่เข้ามาควบคุม งานไม่แจกจ่ายอะไรเลย เข้าไปต้องคอยถามตลอดว่าอาทิตย์นี้จะให้ช่วยทำอะไรบ้าง
พัท–ภูมิภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งเสียงที่บอกกับประชาไทถึงเหตุผลที่เปลี่ยนใจมาเชียร์พรรคเพื่อไทย เพราะไม่ชอบระบบการทำงานและท่าทีที่ดูไม่จริงใจของพรรคส้ม รวมถึงรู้สึกประทับใจนโยบายของพรรคแดงมากกว่า
ก่อนเข้าสู่โลกมหาวิทยาลัย ภูมิภัสส์ วางตัวเองเป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวอิสระ สร้างความรับรู้เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน
มูฟเมนต์ที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักคือ นร.ม.6 รวมตัวกันฟ้องศาลปกครองเลื่อนการสอบ TCAS เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2564 เนื่องจากวันสอบติดต่อกันหลายวิชา และไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19
ภูมิภัสส์ ซึ่งมีฐานะผู้ฟ้องรายชื่อที่ 2 บอกว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่ยื่นมือเข้ามาช่วยกลุ่มนักเรียนและติวเตอร์ โดยพรรคมีทีมกฎหมายที่คอยให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยประสานงานสื่อมวลชน ทั้งนี้ไม่มีการสนับสนุนมูฟเมนต์ด้วยการให้เงินแต่อย่างใด
“ครั้งแรกที่ทำงานกับเพื่อไทย ตอนฟ้องศาลเลื่อนสอบ ก็เจอกับ ดร.หญิง (ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ โฆษกพรรคเพื่อไทย) รู้สึกว่าทีมกฎหมายเพื่อไทยใส่ใจกับกลุ่มแอคติวิสต์มากกว่า เราต้องการฟ้องประเด็นนี้ ไม่ต้องการฟ้องประเด็นนี้ เขาก็ใส่ใจว่าเราเดินทางมาได้ไหม มาเจอกันที่นี่ก่อนไหม เรารู้สึกว่าเราได้รับการมองเห็น”
เมื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ภูมิภัสส์ เคลื่อนไหวเรื่องสถาบันฯ ร่วมกับม็อบเยาวชน และเรื่องเพศกับกลุ่มเฟมินิสต์ในมหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเห็นว่าไม่มีความเท่าเทียมทางเพศในมหาวิทยาลัย แล้วในขบวนประชาธิปไตยก็ยิ่งแย่ เช่น การแอบถอดถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นการข่มขืน และยังมีคนที่เป็นนักข่มขืนขึ้นปราศรัยบนเวที
เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในการเมืองภาพใหญ่ ภูมิภัสส์ บอกว่า ความเป็นปิตาธิปไตยมีอยู่ในอยู่พรรคการเมือง แต่สำหรับตนรู้สึกโอเคกับเพื่อไทยมากกว่า เพราะเพื่อไทยยังทำนิทรรศการแบบ “นิทรรศกี” ขณะที่หลายๆ คนในก้าวไกลก็มีประเด็นเรื่องเพศ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกตั้งคำถามเรื่อง “พฤติกรรมในครอบครัว” ว่าดูย้อนแย้งกับคุณค่าที่พรรคก้าวไกลนำเสนอหรือไม่ คนยิ่งจับตามากขึ้น เมื่อเขาก้าวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล
เมื่อปี 2562 ศาลยกฟ้อง กรณีพิธาทำร้ายร่างกายต่าย-ชุติมา เนื่องจากบาดแผลที่เกิดขึ้นของฝ่ายหญิง ไม่มีหลักฐานพอว่าเกิดจากการทำร้ายของฝ่ายชาย
ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำพูด ต่าย-ชุติมา ให้สัมภาษณ์กับไนน์เอนเตอร์เทนว่า พอไต่สวนแล้ว มีการทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่ถึงกับเป็นความรุนแรงในครอบครัว แต่มันกระทบจิตใจตนเอง เลยทำให้ตนเองเริ่มกังวลในการอยู่ร่วมกัน
เวิร์คพอยท์ทูเดย์รายงานคำพูด ต่าย-ชุติมา ที่ไปออกรายการคลับฟรายเดย์ และเล่าให้ฟังถึงปัญหาในชีวิตคู่ที่เธออึดอัดใจ เช่น สามีบังคับไม่ให้กลับบ้านเกิน 18.00 น. ตั้งแต่แต่งงานมา หรือ เธอเผลอไปชมพระเอกฮอลลีวู้ด โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ว่าเซ็กซี่จัง แล้วต้องกลายมาเป็นทะเลาะกันรุนแรง ถึงขั้นต้องกราบขอโทษ
รวมถึงเคยไปให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ เปิดเผยว่า หลังแต่งงาน พิธา เคยขอไม่ให้ต่ายคบกับเพื่อนที่เป็นเกย์ หรือเป็นทอม หรือคนที่ลักษณะภายนอกไม่ใช่ผู้หญิง ด้วยเหตุผลว่าไม่เหมาะสม รวมถึงต้องใช้ชีวิตด้วยการมีกล้องวงจรปิดคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของตัวเองตลอด
ต้นเดือน ก.ย. 2566 โฆษกหญิงพรรคการเมืองหนึ่ง ออกมาโพสต์ว่า ถูก อดีตผู้สมัคร สส. ก้าวไกล จ.ชัยภูมิ ล่วงละเมิดทางเพศ
ย้อนไปเมื่อเดือน ปี 2565 ส.ก. เขตสาทร ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้เสียหายบางส่วนเป็นผู้เยาว์
ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนมีกรณีของ ส.ก.เขตวัฒนา ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศอดีตลูกจ้างหญิงข้ามเพศ โดยผู้ที่ออกมาเปิดโปงถูกฟ้องหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและแพ่ง
ภูมิภัสส์ เล่าถึงผลกระทบด้านจิตใจว่าปกติเวลาที่ตนพูดเรื่องเฟมินิสต์ในโซเชียลก็จะมีทัวร์แอนไทเฟมินิสต์จากเฟซบุ๊กมาลง ต่อมาที่ตนเปิดตัวเชียร์เพื่อไทยทัวร์ก็ลงบ่อยและหนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็ส่งผลกับตนเหมือนกัน ขณะนี้ก็ต้องพบนักจิตบำบัดเป็นระยะ ส่วนชีวิตในมหาวิทยาลัยก็มักถูกบอกว่าเป็นคนแรงๆ ที่ขับเคลื่อนทุกประเด็น
เพราะรู้สึกว่าถูกเบียดขับจากความเป็นกระแสหลักที่ดูมีศีลธรรมสูงส่ง ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่เรียกตัวเองว่า “นางแบก” มักมีอารมณ์ขันแบบจิกกัดตัวเอง ที่เข้าใจกันเองเฉพาะกลุ่ม
อีกคำหนึ่งที่โหวตเตอร์เพื่อไทยใช้เรียกตนเองคือ “อึ่งไข่” ซึ่งก็เกิดจากอารมณ์ขันเชิงประชดประชันน้อยเนื้อต่ำใจเช่นกัน
ภูมิภัสส์เล่าถึงที่มาของคำนี้ที่เริ่มต้นเกิดจากการตอบโต้กันของส้ม-แดงในโลกออนไลน์ แล้วนางแบกคนหนึ่งก็โต้กลับว่า คนเลือกก้าวไกลมักจะบอกว่าก้าวไกลมาจากประชาชน 14 ล้านเสียง ถ้างั้นคนอีก 10.9 ล้านคนที่เลือกเพื่อไทยเป็นอึ่งไข่หรือ
“เราออกมาบอกว่าเราเป็นอึ่งไข่ 10.9 ล้านตัวที่เลือกรัฐบาลนี้ แล้วก็มีนักวิชาการคนหนึ่งออกมาพูดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลอึ่งไข่ ที่เก็บไข่จนเต็มตัว แล้วเดี๋ยวจะต้องโดนคนอีสานจับกิน แล้วจะสูญพันธุ์ เราก็แบบอะไรวะ มึงนั่งกาวไปได้ขนาดนั้น กูแค่ชอบอึ่งไข่ เพราะมันอยู่ในติ๊กต็อก”
ไม่ซื้อก้าวไกล สังคมก็พร้อมตั้งคำถาม
“ถ้าเป็นแอคติวิสต์ธรรมดา เราก็ไม่คิดจะหันออกจากพรรคก้าวไกล แต่กลายเป็นว่า คนที่เป็นว่าที่ผู้สมัคร สส. เป็นแอนไทเฟมินิสต์ เป็นชายไทยเล่นมุกหอม ด่าอิสลาม ยังได้มีพื้นที่สื่อ ได้ลง สส. พรรคก็ยังคิดที่จะส่งเขาลงในพื้นที่ นี่ก็แบบ สรุปแล้วเรสประเด็นความเท่าเทียมของพรรคยังไง”
ฟ้า–น้ำฟ้า ปั้นเหน่งเพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ระบุตัวเองว่าเป็น “เฟมินิสต์” และ “นางแบก” บอกกับประชาไทถึงเหตุผลที่เปลี่ยนใจมาเชียร์เพื่อไทย ว่า ตนเคยร่วมทำกิจกรรมกับพรรคส้มมาก่อน แต่รู้สึกไม่ซื้อในพฤติกรรมหลายๆ อย่างซึ่งดูขัดกับประเด็นที่พรรคพยายามนำเสนอ
น้ำฟ้า เป็นนักเรียนจาก รร. หญิงล้วนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ที่ออกมาเคลื่อนไหวสร้างความรับรู้เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน และความเท่าเทียมทางเพศ ต่อมาได้รู้จักคนทำงานพรรคจากการไปร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปกับคณะก้าวหน้า ที่ จ.สงขลา ซึ่งนั่นทำให้ตนเปลี่ยนใจมาเชียร์เพื่อไทย
ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเปิดตัวเชียร์เพื่อไทย ยิ่งแพงขึ้นไปอีกเมื่อเรียนคณะรัฐศาสตร์
น้ำฟ้าบอกว่าตนถูกตั้งคำถามจากคนในคณะเดียวกันว่าทำไมถึงมีจุดยืนแบบนี้ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันบ้าง แต่เวลาคุยกับคนที่เลือกก้าวไกลก็พบว่า เขามักมีธงในใจ ถ้าตนตอบผิดแผกไปจากนั้นก็จะถูกมองว่าแบกจนบ้ง
ในช่วงที่มีกระแสข่าวลือว่าเพื่อไทยจะจับมือ 2 ลุงตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว น้ำฟ้าเล่าบรรยากาศที่จำไม่ลืมในคลาสเรียนวิชาหนึ่ง อาจารย์พูดในห้องเรียนแบบขำๆ ทำนองว่า คนที่เลือกเพื่อไทยอาจจะคิดว่าตัวเองโง่ ไม่น่าเลือกเลย
“เขามายืนพูดอยู่หน้าโต๊ะเรา แล้วก็มองหน้าเรา เสร็จแล้วก็หันไปมองเพื่อน บอกว่าอันนี้คือล้อกันเล่นเฉยๆ นะ พอดีว่าสนิทกัน นี่ก็อึ้ง แล้วก็…ค่ะ อาจารย์เขาก็พูดว่า แต่ไม่เป็นไร คนเรามีเงื่อนไข ที่ต่างกัน ทำไมถึงเลือกหรือไม่เลือก”
ในเทอมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง น้ำฟ้าเคยเรียนวิชาอื่นกับอาจารย์คนนี้มาแล้วและแสดงตัวว่าชอบเพื่อไทยมากว่าก้าวไกล แต่ที่ตกใจมากกว่าคำพูดของอาจารย์คือมวลบรรยากาศที่เพื่อนทั้งห้องขำ
“มหาลัยเราไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่เลือกพรรคแดงอยู่แล้ว ถ้าคุณเลือกส้มเมื่อไหร่นะ แล้วยิ่งคุณเป็นแอคติวิสต์คุณก็จะยิ่งได้รับการเชิดชูมากๆๆๆๆ แต่ถ้าคุณเลือกพรรคแดง แล้วคุณพูดอะไรออกมาก็จะถูกจับผิด ตั้งคำถาม ถูกมองว่าจัดตั้ง เป็นไอโอพรรคจ้างมา”
สำหรับความคาดหวังต่อพรรคเพื่อไทย น้ำฟ้าบอกว่า สิ่งที่พรรคไม่ควรบาร์ต่ำกว่านี้คือ การกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่ผิดหลักประชาธิปไตย พร้อมยกตัวอย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ว่า สสร.ก็ควรมาจากการเลือกตั้งเป็นสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 50%
“เพื่อไทยเลือกที่จะเอาอำนาจรัฐที่จะมาจัดการปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนก้าวไกลกินอุดมการณ์มากกว่าที่จะดูที่การกระทำ คนอื่นอาจจะซื้อ แต่เราไม่ซื้อโซลูชั่นของก้าวไกล ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี แค่เราไม่ซื้อ”
น้ำฟ้า บอกว่า แม้ว่าตนจะเห็นความเป็นไปได้ของรัฐบาลข้ามขั้วมาตั้งแต่เห็นผลการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ก็ผิดหวังที่เพื่อไทยไปจับมือกับพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้จับมือกับก้าวไกลแล้วไปต่อด้วยกันได้ แต่สุดท้ายถ้ามีก้าวไกลยังไงก็ไม่ผ่าน สว. 250 คน จึงมองว่าก็ต้องเลือกทางที่ไปต่อได้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด