“เศรษฐา” สะเทือนใจ เหตุโจมตีโรงพยาบาล อัล อาห์ลี เสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสีย

“เศรษฐา” สะเทือนใจ เหตุโจมตีโรงพยาบาล อัล อาห์ลี เสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสีย



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ รู้สึกสะเทือนใจและเสียใจอย่างยิ่ง กับข่าวโศกนาฏกรรมที่โรงพยาบาล อัล อาห์ลี อาหรับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ชี้ ความขัดแย้งต้องได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

วันที่ 18 ต.ค. 2566 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับทราบการโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาระบี แบปทิสต์ (al-Ahli al-Arabi Baptist Hospital) ณ ฉนวนกาซา เมื่อคืนที่ผ่านมา (17 ตุลาคม 2566) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทยกับความสูญเสียต่อครอบครัวของเหยื่อ และขอให้ผู้บาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว 

โดยนายกรัฐมนตรีเผยแพร่ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ว่า “รู้สึกสะเทือนใจและเสียใจอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวโศกนาฏกรรมที่โรงพยาบาล อัล อาห์ลี อาหรับ ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาเมื่อคืนนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นี้ พลเรือนผู้บริสุทธิ์ในความขัดแย้งต้องได้รับความคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศครับ”

ทั้งนี้ โฆษกฯ ระบุว่าการ โจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาระบี แบปทิสต์ (al-Ahli al-Arabi Baptist Hospital) ถือเป็นการผิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการโจมตีโรงพยาบาล ซึ่งตามหลักสงครามจะไม่โจมตีโรงพยาบาล โรงเรียน และไม่มีพลเรือนเป็นเป้า 

โดยกระทรวงต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อความดังนี้ ประเทศไทยรู้สึกสะเทือนใจและเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์การโจมตีโรงพยาบาล al-Ahli al-Arabi ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และขอไว้อาลัยแก่ผู้เคราะห์ร้ายและแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย ประเทศไทยขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินความพยายามเพื่อยุติวัฏจักรความรุนแรงและความโหดร้ายทั้งปวงโดยทันที ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการเคารพและปกป้องพลเรือน โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 30 ราย ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาต่างประเทศ บาดเจ็บ 16 ราย (ไม่เปลี่ยนแปลง) ถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย (ไม่เปลี่ยนแปลง) และคนไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้วจาก 7 เที่ยวบิน จำนวน 926 คน และมีอีกจำนวนหนึ่งที่เดินทางกลับมาเอง (ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 15.00 น.) โดยเที่ยวบินล่าสุดที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ด้วยสายการบินอิสราเอล จำนวน 162 คน และสายการบินไทยเดินทางถึงช่วงเช้าวันที่ 18 ตุลาคม 2566 จำนวน 266 คน ซึ่งจำนวนที่ลงทะเบียนกับจำนวนที่เดินทางมาจริงอาจมีความแตกต่างไปบ้าง เนื่องจากลงทะเบียนแล้วเปลี่ยนใจไม่เดินทาง หรือลงทะเบียนไว้แต่ในวันเดินทางไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งสถานทูตฯ จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

“ทุกประเทศมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องการเห็นสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางคลี่คลายโดยเร็ว โดยยุติการใช้ความรุนแรง เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ทุกคน” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว



แหล่งที่มา

Scroll to Top