“ดิเรกฤทธิ์” ชี้ สว. ยังกังวลจริยธรรม – ท่าที “เศรษฐา” ปมเลี่ยงภาษี – แก้รัฐธรรมนูญ แนะขอเข้าเเจงในที่ประชุมก่อนโหวต
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นไปตามหลักการที่ สว. หลายคนได้เสนอต่อสาธารณะ ว่าหากเสียงส่วนใหญ่ของ สส. เสนอใคร คนนั้นก็มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 95-100% ซึ่งหากเป็นใคร บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยถือเป็นเป็นเรื่องพื้นฐาน ซึ่งในส่วนของคุณสมบัติก็มีเรื่องมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม ความประพฤติอันเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถที่จะนำพาประเทศชาติ และนำพารัฐบาลของประชาชนไปสู่ความสำเร็จตามนโยบายที่วางไว้ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ
และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับการเสนอชื่อ จะต้องแสดงความชัดเจนว่านโยบายของท่านจะนำพาประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อย นำความเจริญรุ่งเรืองมาให้ประเทศชาติและประชาชน อย่างที่มีบางท่านออกมาแสดงความเห็นว่าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการจัดทำประชามติ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ตนคิดว่าเราต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความจำเป็นอย่างไรมากแค่ไหนที่จะต้องแก้ทั้งฉบับ
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ สส.เลือกมาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว ทำไมไม่เลือกแค่เฉพาะเรื่องที่สำคัญ และแก้เป็นรายมาตรา ขอถามว่าเรื่องที่จำเป็นจะแก้ จะต้องแก้ทั้งฉบับเลยหรืออย่างไร การแก้ทั้งฉบับมีขอบเขตอย่างไร หมวด 1 หมวด 2 จะเอาไว้หรือไม่ และเรื่องอะไรบ้างที่เป็นองค์กรอธิปไตยใช้อำนาจของประชาชนไปบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระ มีความเห็นอย่างไร และจะแก้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะใช้ประกอบในการเลือกให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนหากวันพรุ่งนี้เป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการเสนอชื่อ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ก็เข้าองค์ประกอบและเป็นข้อกังวลทั้ง 3 เรื่องที่ได้ระบุไว้ คือนายเศรษฐาเคยมีกรณีถูกกล่าวหา สมัยเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนเคยมีพฤติการณ์เลี่ยงภาษีในการซื้อขายที่ดิน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่นายชูวิทย์ได้มาเปิดเผย และมีการนำเรื่องดังกล่าวมาร้องต่อคณะกรรมมาธิการของวุฒิสภา นอกจากนี้ยังมีเรื่องแก้และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
อย่างไรก็ตามต้องให้ความเป็นธรรมกับนายเศรษฐา ทั้งนายเศรษฐาและเพื่อไทยสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่าง ๆ รวมทั้งหลักฐานทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีเพื่อความสง่างาม ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่านายเศรษฐาควรเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า นายเศรษฐาไม่ได้เป็น สส. จึงไม่ได้อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา แต่ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเกรงว่าจะเสียประโยชน์ ควรทำหนังสือมายังประธานรัฐสภา เพื่อเข้ามาชี้แจงในที่ประชุม เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่น ๆ ก็เคยมาชี้แจง หรือให้นายเศรษฐามาสแตนด์บาย แล้วให้ สส.เสนอญัตติให้นายเศรษฐาเข้ามาชี้แจง แสดงเหตุผลพร้อมหลักฐานก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย